Background

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย
Application of cultural capital context to design and develop branding and packaging appeal to herbal products of the community enterprise in the area of north central provinces group 2
(Chai Nat , Lopburi , Sing Buri and Angthong)

ในปัจจุบันประเทศไทยเรากำลังให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) จากหลากหลายประเด็นเนื้อหาสาระ ไปช่วยคิดช่วยสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นมา เพื่อเพิ่มคุณค่าในสินค้าและบริการเดิมของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งทั้งในประเทศและทั้งในตลาดโลก ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย นโยบายและยุทธ์ศาสตร์หลักของประเทศต่างๆ รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างการผลิตและบริการของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเน้นการผลักดันเรื่องการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการ บนฐานความรู้และนวัตกรรม นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) ที่รัฐบาลได้ประกาศพันธสัญญาไว้เป็น 4 ด้าน ด้วยกันคือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคน ด้านสังคมและแรงบันดาลใจ และด้านธุรกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ให้แก่ ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ โดยยังคงใช้แนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพจาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการสร้างฐานทางปัญญาเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนและสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแบบแผนการผลิต และบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความรู้และจุดแข็งของอัตลักษณ์ไทยมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างรู้ เท่าทัน สร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรและความมั่งคั่งด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาล และความสมานฉันท์ในทุกภาคส่วนและทุกระดับ เป็นฐานการพัฒนาประเทศที่มั่นคงและสมดุล มุ่งสู่การอยู่ร่วมกันใน สังคมอย่างมีความสุขและเป็นธรรม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,2554 : ก-ซ)

การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกระดับที่รัฐบาลได้ส่งเสริมสนับสนุนมา ไม่ว่าจะเป็นกิจการจากระดับบุคคลจากธุรกิจเล็กๆที่เกิดจากผู้ประกอบการรายเดียว ที่เกิดจากการสังคมการร่วมทุนในระดับ หมู่บ้าน จังหวัดและระดับประเทศ อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชน โอทอป วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมหรือขนาดใหญ่ ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพราะเป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคทุกระดับ อย่างที่ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องรู้เท่าทันและปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม แต่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าปราศจากการนำสาระเนื้อหา การปรับประยุกต์พัฒนาจากทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ไปใช้เป็นตัวเริ่มต้น ทุนวัฒนธรรมนับเป็นสินทรัพย์ที่มีการฝังตัวอยู่ในคุณลักษณ์ของสินค้าและการบริการ (Product & Service Features) สามารถให้คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ (Intangible Culture Value Added) แต่สามารถรับรู้เข้าถึงและเข้าใจได้เยี่ยงสุนทรีย์รสที่มนุษย์เรารับรู้ มองเห็นและได้รับสาร (Messages) ที่ส่งจากสื่อกลาง ( Medium) ที่ปรากฏเป็นตัวแทนจากสื่อทัศน์ต่างๆ (Visual Media) ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมนั้นๆทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งทุนทางวัฒนธรรม อาจเป็นวัฒนธรรมที่สัมผัสได้หรือวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ เมื่อสินค้าและบริการมีการฝังตัวของเนื้อหาทางวัฒนธรรมไปด้วย จะเรียกสินค้านั้นว่าสินค้าทางวัฒนธรรม เช่นรูปแบบของสินค้าพื้นเมือง (Cultural or Local Product & Service) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายและแผนงานพัฒนาและส่งเสริมทุนวัฒนธรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากวัฒนธรรมเปรียบเสมือนต้นน้ำในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือเป็นการเอานำเนื้อหา สาระสำคัญทางวัฒนธรรมไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประกอบการทางธุรกิจ นับตั้งแต่การเริ่มวางแผนดำเนินธุรกิจ การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์และการบรรจุภัณฑ์ กระบวนวิธีและกลยุทธ์เพื่อการขนส่งและการจัดจำหน่ายให้ถึงมือผู้บริโภคนั่นเอง

การออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของสินค้า นับเป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งสำคัญนับแต่ตอนก่อนตั้งต้นทำธุรกิจ การผลิตสินค้าหรือการบริการใดๆ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้าทุกรายมีความต้องการและจำเป็นที่ต้องมีการคิด การสร้างสรรค์ การเลือกสรรใช้ ต้องมีการปรึกษาหารือกับนักออกแบบ เพื่อการวางแผนนำไปใช้งานร่วมเป็นทุนในการประกอบธุรกิจ ธุรกรรม นิติกรรม และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ทั้งบนตัวผลิตภัณฑ์หรือภายนอกตัวผลิตภัณฑ์และหรือรวมไปถึงการบริการด้วย ทั้งนี้ก็เพราะตัวตราสัญลักษณ์ก็คือสิ่งที่ระบุเริ่มแรก ใช้บ่งชี้เฉพาะถึงความเป็นตัวตน ความเป็นอัตลักษณ์ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะของผู้ผลิตและตัวสินค้าและบริการ ซึ่งเมื่อเกิดมีผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้ว สินค้าบางชนิดก็ย่อมต้องการตัวบรรจุภัณฑ์มาร่วมทำหน้าที่ในการบรรจุ การห่อหุ้มปกป้องรักษา ทำหน้าที่สื่อสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ บอกกล่าว แจ้งข่าวสารต่างๆให้ทราบถึงคุณความดีหรือสรรพคุณ ที่เกี่ยวข้องในตัวผลิตภัณฑ์ กระทั่งอำนวยความสะดวกในการจัดการ การขนส่งและการจัดจำหน่ายถึงปลายทางคือการใช้งานขณะที่ถึงมือผู้บริโภค การเก็บรักษาและหรือการกำจัดเมื่อสิ้นสุดการใช้งานลง ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า หรือที่มักเรียกใช้คำทับศัพท์ว่า ”แบรนด์ (Brand)” นั้นจึงเป็นคุณลักษณ์หรือส่วนควบสำคัญ (Product Features & Components) ที่จำเป็นต้องมีและดำเนินการปรับเปลี่ยน พัฒนาไปพร้อมในวัฏจักรวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ซึ่งหากทั้งตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ของสินค้าได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างพิเศษ อย่างตั้งใจให้มีการออกแบบสร้างสรรค์ มีประวัติ มีแนวความคิดแฝงที่ดี มีที่มาของเรื่องราวที่ทรงคุณค่า มีการออกแบบเขียนแบบสร้างสรรค์อย่างสมบูรณ์ มาตรฐานอย่างลงตัว ก็ย่อมจะสามารถได้รับการยอมรับ ความนับถือมั่นใจและตัดสินใจซื้อจากผู้บริโภคได้ยืนยาวอย่างยั่งยืน (Brand Royalty) ดังนั้นตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์สินค้าจึงเปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้าและองค์กรผู้ผลิต ที่สามารถปรับเป็นทุนหรือคิดเป็นมูลค่าได้เช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆนั่นเอง

แนวคิดเรื่องการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด เป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารงานแบบบูรณการให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในรูปของการรวมกลุ่มจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในด้านต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การวางกรอบทิศทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีระบบและร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดของประเทศไทยเรา โดยแบ่งออกเป็น 18 กลุ่ม สำหรับกลุ่มภาคกลางตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาทและอ่างทอง โดยกำหนดให้จังหวัดลพบุรีเป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล เพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยผ่านโครงสร้างองค์กรของสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่แผนพัฒนาจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุด กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี (พ.ศ.2557-2560) ซึ่งมีสาระสำคัญไว้เพื่อการนำไปบูรณาการ การสร้างแผนกลยุทธ์และการจัดทำโครงการและแผนงานสู่การปฎิบัติร่วมกันจากภาคีภาครัฐและเอกชนไว้เป็น 3 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับกระบวนการผลิต การตลาดและระบบ Logistics อาหารปลอดภัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว จากฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งก็สอดคล้องกับทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ได้จัดทำแผนพัฒนาไว้เช่นกัน โดยกำหนดให้กลุ่มจังหวัดมีวิสัยทัศน์ (Vision) ร่วมกันว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ตั้งเป้าประสงค์ (Goals) ไว้คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP: Gross Provincial Products) ภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ของภาคการค้า การบริการ และการขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา (Development Strategies) ภายใต้ศักยภาพด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร และฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และธรรมชาติที่มีความโดดเด่น ประกอบกับมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง และมีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ประกอบกับการคมนาคมขนส่งสะดวก โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ หอการค้าไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ซึ่งสรุปได้เป็น 3 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้คือ (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, 2558)

ประเด็นที่ 1 การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง) โดยมีกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อการส่งออก (ข้าว และปศุสัตว์) การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตร การพัฒนาเชื่อมโยงทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ โดยมีกลยุทธ์ไว้เป็นแนวทางให้เพื่อให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวระยะยาว สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัด และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อเร่งทำการประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการ

ประเด็นที่ 3 การพัฒนาและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยมีกลยุทธ์ไว้เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งพื้นฐาน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำเป็นต้น

จากการที่คณะผู้วิจัยได้เคยทำการศึกษาวิจัยพัฒนาในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาทมาแล้วคือเรื่องการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าการเกษตรของวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (2557) และเรื่องการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท (2558) ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าศึกษาและสำรวจความต้องการงานออกแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดใกล้เคียงมาก่อน จึงพบว่ายังมีผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดอื่นๆข้างเคียงอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่นตนเองมาปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้าและการบริการ อาทิเช่น พบว่า ต้องการรับการพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของสินค้าและทั้งขององค์กรตนเองให้มีคุณค่า มาตรฐานและคุณภาพ ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะเงื่อนไขจากการประกาศใช้กฏหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรงานออกแบบที่เข้มงวดขึ้น จึงต้องการ การตรวจสอบ การแก้ไขพัฒนาปรับเปลี่ยนคุณลักษณะทางกราฟิกสื่อสารและงานอัตลักษณ์ต่างๆในตัวสินค้าและบริการที่อาจจะเคยมีหน่วยงานราชการหรือผู้สนับสนุน ได้ออกแบบ จัดจ้าง จัดพิมพ์และมอบให้ใช้งานเผยแพร่ โฆษณาหรือใช้ในเชิงพาณิชย์มาก่อน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบให้มีลิขสิทธิ์เฉพาะให้ถูกต้อง มีอัตลักษณ์ ที่มีมูลค่าเพิ่ม ให้เกิดความมั่นใจในสิทธิ ในสินทรัพย์ทางการค้า เพื่อสามารถเข้าแข่งขันทางการค้าและปรับตัวรองรับ ตั้งรับกับการแข่งขันทางการตลาดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC : Asean Economic Community) ที่ต้องมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีทีมนักวิจัยเป็นทีมงานที่มีศักยภาพ เป็นอาจารย์ผู้สอนและนักออกแบบที่มีประสบการณ์ตรงด้านการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์ และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์สินค้ามาก่อน และมีความพร้อมในการศึกษาวิจัย การสร้างสรรค์และการบริการความรู้ด้านการบริการงานออกแบบแก่ชุมชน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำความรู้ไปบริการชุมชนฐานะของภาคีภาคการศึกษา ด้วยการศึกษาวิจัยและบริการออกแบบสร้างสรรค์ อันจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ถูกต้องอย่างมีหลักวิชา เพื่อพัฒนาคุณภาพและเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งการวิจัยต่อยอดแนวคิดด้วยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นจังหวัดกลุ่มนี้มาเป็นขอบเขตในเนื้อหาการวิจัย ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้านเกษตรสมุนไพร และเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต เป็นการพัฒนาศักยภาพและภาพลักษณ์องค์กรในระดับรากหญ้าให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นการวิจัยเพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมและหรือภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อันจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และสาธารณะ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ สร้างมาตรฐานตราสินค้าและรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างเหมาะสมกับฐานะการลงทุนของแต่ละองค์กร อันจะเป็นการสร้างความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้พัฒนาชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมของชุมชุนให้เข้มแข็งขึ้นได้ในลำดับต่อไป

6.วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

6.1 เพื่อศึกษาทุนทางวัฒนธรรมในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์

6.2 เพื่อออกแบบพัฒนา ปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพด้านตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสมุนไพร ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) โดยที่ผลิตภัณฑ์สินค้ามีคุณลักษณะที่สื่อสาร สื่อแสดงถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นส่วนประกอบในการออกแบบสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าและใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

6.3 เพื่อประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อภาพรวมผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสมุนไพร ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) ที่ได้พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม

7.ขอบเขตของโครงการวิจัย

7.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical data ) เกี่ยวกับทุนทางวัฒนธรรมที่ปรากฏและคงอยู่ (Existing Cultural Capital) ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ (Design Inspiration) โดยการสังเคราะห์ (Synthesis) ขึ้นใช้เป็นส่วนประกอบในออกแบบ (Design Elements) สร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ให้ผลิตภัณฑ์เป็นผลงานที่มีคุณลักษณะมาตรฐานของตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าเฉพาะทางด้านสมุนไพร (Herbal Product’s Brand and Packaging Design ) ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กและขนาดย่อม ( Small and Micro Community Enterprise) ให้มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการค้า

7.2 ขอบเขตด้านสถานที่วิจัย ภายในกลุ่มจังหวัดเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง )

7.3 ขอบเขตด้านประชากรที่ศึกษา เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ตัวแทนสมาชิก/ผู้ประกอบการ จากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน จากภาคสังคม/วัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการทางการออกแบบสร้างสรรค์ และจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

7.4 ขอบเขตด้านเวลา กำหนด 1 ปี

No comments:

Post a Comment