Monday, November 19, 2018

Research Article : Application of Cultural Capital Context to Design and Develop Branding and Packaging Appeal to Herbal Products of the Community Enterprise in the Area of North Central Provinces Group 2.


การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 
Application of Cultural Capital Context to Design and Develop Branding and Packaging Appeal to Herbal Products of the Community Enterprise in the Area of North Central Provinces Group 2. 
ประชิด ทิณบุตร1 และ นรรชนภ ทาสุวรรณ1
Prachid Tinnabutr1, and Nanchanop Thasuwan1
1สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
บทความวิจัยเรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สําหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ตีพิมพ์เผยแพร่บทความในวารสารจันทรเกษมสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 47 กรกฎาคม–ธันวาคม 2561 : Journal of Chandrakasemsarn Vol. 24 No. 47 July-December, 2018 หน้า 126-141 Link : https://www.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/160351

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการด้านการออกแบบพัฒนาคุณภาพของตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนด้านสมุนไพร 2) ศึกษาทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในเขตพื้นที่ 3) ออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสมุนไพรในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ และ 4) ประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อภาพรวมผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการวิจัยทั้งหมดจำนวน 8 ราย เป็นการศึกษาวิจัยแบบพัฒนาทดลองตามกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ โดยมีการประเมินความพึงพอใจในคุณภาพผลงานการออกแบบ จากตัวแทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 5 กลุ่ม โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงเลือกและการเลือกแบบบังเอิญ รวมจำนวนทั้งสิ้น 142 คน เก็บรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการนำเสนอผลงานแบบกลุ่มย่อยการสอบถามความคิดเห็นทั้งโดยตรงและแบบออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการผลงานออกแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพทางการออกแบบด้วยการใช้วัจนสัญลักษณ์และอวัจนสัญลักษณ์ 2) ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะลวดลายไทยที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดที่เหมาะสม 3) สร้างสรรค์ร่วมกับหน้าที่ใช้สอย ให้ผู้บริโภครับรู้จดจำง่าย มีมูลค่าเพิ่ม เสริมการต่อยอดการผลิตจริงได้ ซึ่งผลงานที่ได้ออกแบบสร้างสรรค์ทั้งหมดนั้น 4) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นว่าภาพรวมคุณลักษณะของผลงานที่ออกแบบ ด้านการออกแบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ ด้านกราฟิกตราสัญลักษณ์ ด้านรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของสินค้าสมุนไพร ตามกรอบแนวคิดการวิจัย เป็นผลงานการออกแบบที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่พึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.66 สามารถเพิ่มมูลค่าแก่ตัวสินค้าและธุรกิจได้จริง

คำสำคัญ: ทุนทางวัฒนธรรม การออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์ การออกแบบพัฒนารูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน2
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
Abstract 

This research aims to 1) study the requirement of branding and packaging design development for the herbal products of community enterprise entrepreneurs. 2) study the existing cultural capital visual arts on the target area. 3) design and develop a new branding and packaging for the herbal products of 8 community enterprise entrepreneurs in upper central 2 Thailand; Chainat, Lopburi, Singburi, and Angthong, based on the existing cultural capital as an inspired creativity of the research findings concept. 4) evaluate the standard quality and efficiency opinion of the brand identity and packaging design from 8 local brands. This research uses creative experimental design process of a focus on the satisfaction from the selected, by randomly and specifically, end-user representatives with a total of 142 participants. The final designs are presented to a small group of people before collecting the evaluating questionnaires and opinions using a focus group method. The evaluation is done through both online questionnaires and in person. The descriptive statistics used in this experimental research include percentage, mean, and standard deviation.

The results found that 1) most entrepreneurs requested graphic branding and packaging design quality creation 2) by using both of the verbal and non-verbal identity elements inspired from the existing cultural capital of painting and architecture motif and the identity within the local area of the upper central 2 (Chainat, Lopburi, Singburi and Angthong province). 3) The graphics Identity, product, and package should visually appeal to the customers, be memorable, value-added, and need to be able to produce commercially. 4) Stakeholders’ satisfaction with the overall performance characteristics of the design set of typefaces, graphics branding and packaging of herbal products based on the research framework outcome is in an excellent level, resulting in a mean of 4.53, S.D. 0.66. Can increase the value added to products and their businesses stand out.

Keywords: Cultural Capital, Branding Design and Development, Packaging Form Design and Development, Herbal Products, Small Community Enterprise 2, North Central Provinces Group 2


กำหนดตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารจันทรเกษมสาร ปีที่ 24 ฉบับที่ 47 เดือน กรกฎาคม-ธันวาคม 2561

Friday, September 14, 2018

ติดตามผลการนำผลงานการวิจัย-สร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์จริง

เฝ้าดู ชื่นชม ติดตามผลการนำผลงานการวิจัย-สร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์จริง การต่อยอดทางธุรกิจ การจำหน่ายสินค้า การพัฒนาสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากไร่ทหารสานประชา จ.ลพบุรี ที่เคยเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ ณ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ 12/9/2561


Saturday, July 21, 2018

สรุปผลการวิจัย

สรุปผลการวิจัย  : บทคัดย่อ Abstract  : บทความวิจัย Research Article
การวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความต้องการด้านการออกแบบพัฒนาคุณภาพของตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนด้านสมุนไพร ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) 2) เพื่อศึกษาทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์พัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน 3) เพื่อออกแบบพัฒนา ปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพด้านตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสมุนไพร มีคุณลักษณะที่สื่อสาร สื่อแสดงถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรม มาใช้เป็นส่วนประกอบในการออกแบบสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าและใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ และ 4) เพื่อประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อภาพรวมผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้าน ที่ได้พัฒนา และผลิตขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม

ในส่วนของกระบวนการดำเนินงานศึกษาวิจัย เป็นการศึกษาวิจัยแบบพัฒนาทดลองตามกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ข้อมูลป้อนสู่กระบวนการออกแบบสร้างสรรค์และพัฒนา ผู้วิจัยใช้วิธีการเข้าศึกษาสำรวจข้อมูลภาคสนาม (Field Survey) เพื่อให้ได้ข้อมูล ปัญหา ความต้องการงานออกแบบแท้จริงด้านผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และการศึกษาทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) แล้วสังเคราะห์ในขอบเขตเนื้อหาของทุนทางวัฒนธรรมเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการออกแบบส่วนประกอบของการออกแบบตราบรรจุภัณฑ์ (Branding and Packaging Element Design Inspiration) ที่เป็นวัจนสัญลักษณ์และอวจนสัญลักษณ์ (Verbal & Non Verbal Symbolic) โดยสรุปผลจากคำแนะนำ ความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และผลการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (Swot Analysis) ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัย 2 รอบ จังหวัดละ 2 กลุ่ม รวมจำนวนทั้งสิ้น 8 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของการออกแบบพัฒนา (Design and Development Work Flow) ที่ใช้วิธีดำเนินการและผลงานสรุปตามกระบวนการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ มีขั้นตอนคือ 1) ขั้นตอนการกำหนดคุณลักษณะตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้า (Product’s Brand and Packaging Design Specification) โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆเช่น 2) ขั้นตอนการกำหนดมโนทัศน์ตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ (Product’s Brand and Packaging Design Concept Generation Stage) 3) ขั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Product and Packaging Design Stage) 4) ขั้นการผลิต (Production Stage) และ 5) ขั้นการสรุปและประเมินผล (Conclusion and Evaluation) ซึ่งผลการดำเนินการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ตามกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวนั้น ทำให้ได้ผลงานออกมาเป็นผลงานด้านการออกแบบกราฟิกรูปแบบต่างๆ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบของอัตลักษณ์ (Corporate Graphic Identity Elements) เป็นคุณลักษณะของตราสัญลักษณ์สินค้า (Brand Attributes) อันได้แก่แบบตัวอักษรตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ (Font) ที่แสดงอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อใช้สื่อแทนขององค์กร บนสินค้าและการบริการ ใช้เป็นเครื่องมือและองค์ประกอบในการสื่อสาร สื่อความหมาย (Communicate & Translate Elements) แสดงแทนเป็นวัจนะสัญลักษณ์เพื่อการอ่าน การตีความเข้าใจ (Verbal elements) รวมทั้งสิ้น 4 ตระกูลแบบตัวอักษร(Typeface Family) แสดงอัตลักษณ์ด้วยการใช้ชื่อแบบตัวพิมพ์ตามชื่อจังหวัด ได้แก่ AAA ChaiNat, AAA Lawoe, AAA SingBuri, AAA Angthong เพื่อเป็นฟ้อนต์ที่ใช้ติดตั้งในระบบคอมพิวเตอร์ และใช้ในเป็นส่วนประกอบหลักในการพิมพ์รูปอักขระ ข้อความ สาระเนื้อหาด้วยโปรแกรมประยุกต์ใดๆ เป็นส่วนประกอบร่วมในการการออกแบบสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์และการออกแบบกราฟิกสื่อสาร การอ่านสำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่วนการใช้อวัจนะสัญลักษณ์ (Non Verbal Elements) นั้น เป็นการที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาร่วมใช้สื่อแสดงแทนอัตลักษณ์ แสดงอารมณ์และความรู้สึกร่วม เช่นอาศัยรูปแบบทางศิลปะ (Art Style) ส่วนประกอบของรูปร่าง รูปทรง สีสัน ลวดลาย ที่เป็นส่วนประกอบและปรากฏอยู่ในงาน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ตามแหล่งโบราณสถานวัดวาอารามและที่จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ในท้องที่แต่ละจังหวัดเป้าหมาย มาใช้โดยตรงและโดยอ้อมตามกลวิธีทางศิลปะ(Art and Design Technique) และเทคโนโลยีการออกแบบ (Design Technology) เป็นผลงานรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนเป็นสื่อส่งเสริมการขายต่างๆ (Promotion Medias) อาทิเช่นสื่อทัศน์ (Visual Elements) ที่ปรากฏเป็น รูปลักษณ์ รูปทรงภายนอก ภาพประกอบ พื้นสีสัน ลวดลายทางกราฟิกที่ตัวงานโครงสร้างตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packaging Structural & Graphical Design Appearance/Features) ไปพร้อมกันทั้งองค์ อาทิเช่น ผลงานเขียนแบบโครงสร้าง (Product & Package Structure) งานเขียนแผ่นคลี่ (Package Dieline Pattern) และงานออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับผู้ผลิตและตัวบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ได้ออกแบบพัฒนาขึ้นจากภาพรวมปัญหาที่พบจากการวิเคราะห์ และสังเคราห์ด้วยวิธี Visual Appeal Analysis ของแต่ตัวสินค้า ปัญหาด้านศักยภาพด้านการผลิต เทคนิควิธีการบรรจุ การขนส่ง ข้อมูลการลงทุน ทางการตลาดและแนวโน้มใหม่ของการใช้งานวัสดุบรรจุภัณฑ์ใหม่ การพัฒนารูปลักษณ์ การนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างพอเพียงแก่การลงทุน ตามศักยภาพและการตลาดในยุคเศรษฐกิจดิจิตัล และการสร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวบรรจุภัณฑ์ โดยที่ผู้วิจัยได้นำแนวความคิดหลักเพื่อการดำเนินงานออกแบบพัฒนา โดยมุ่งหวังว่า “ภายใต้แนวคิดของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ ให้มีคุณลักษณะ องค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่การใช้งาน ตามโครงสร้างและตามคุณลักษณะทางกราฟิกสื่อสาร อันเป็นข้อสรุปสู่การผลิตจริง สามารถนำไปใช้ในระบบการผลิต การบรรจุและการจัดจำหน่ายจริงในท้องตลาดได้ สามารถสื่อแสดงคุณค่าและเชื่อมโยงกับทุนวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ได้อย่างเหมาะสม” กระทั่งได้ผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นผลงานต้นแบบและผลิตจริงให้แก่ผู้ประกอบการจังหวัดละ 2 ราย ทั้ง 8 กลุ่ม อย่างน้อยรายละ 2 ชิ้นงาน เพื่อให้มีการประเมินความพึงพอใจจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยวิธีการแสดงนิทรรศการ การจัดสนทนากลุ่มย่อย และตอบแบบสอบถามโดยตรงและทางออนไลน์

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาพัฒนาครั้งนี้คือ ผลงานรูปแบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ รูปแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์ รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 8 ราย ในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ที่ออกแบบพัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดของการวิจัย โดยมีการประเมินคุณภาพและความพึงพอใจ จากตัวแทนของกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสียจาก 5 กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มตัวอย่างในฐานะของกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา/นักวิจัย นักวิชาการพัฒนาชุมชน/เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นักออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์/นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ และตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงเลือกและการเลือกแบบบังเอิญ รวมจำนวนทั้งสิ้น 142 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการนำเสนอผลงานแบบกลุ่มย่อย (Design Focus Group) จัดแสดงผลงานนิทรรศการ การสอบถามความคิดเห็นทั้งโดยตรงและแบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งมีผลการวิจัยดังต่อไปนี้คือ

ผลจากการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการผลงานออกแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าด้านสมุนไพร ที่มีคุณลักษณะเป็นองค์รวมของการสื่อสารและหน้าที่ใช้สอยร่วมกัน ให้ผู้บริโภครับรู้และจดจำง่าย มีอัตลักษณ์เฉพาะ มีคุณภาพทางการออกแบบด้วยการใช้วัจนสัญลักษณ์และอวัจน์สัญลักษณ์ ที่เหมาะสมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยต้องการให้มีการศึกษาและใช้ข้อค้นพบทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ ที่ปรากฏมีอยู่ในงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด มาปรับใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์ ขึ้นเป็นส่วนประกอบต่างๆ ร่วมเป็นสื่อการรับรู้ในตัวผลงานตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมกลมกลืนกัน โดยที่ผลงานที่ได้ออกแบบสร้างสรรค์ตามกรอบแนวคิดและข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยทั้งหมดนั้น กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นว่าภาพรวมคุณลักษณะของผลงาน ด้านการออกแบบตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ ด้านกราฟิกตราสัญลักษณ์ ด้านการรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าสมุนไพร โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่พึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.66 โดยที่ผู้วิจัยได้มอบวัสดุการผลิต บรรจุภัณฑ์จริง งานสื่อสิ่งพิมพ์และสรุปรวบรวมไฟล์ต้นแบบดิจิตัลที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ของทั้งองค์ประกอบทางกราฟิกอัตลักษณ์ อาทิ แบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ ตราสัญลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพประกอบ ข้อมูลสารสนเทศของสินค้าและผู้ผลิต บันทึกลงแผ่นดีวีดีมอบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย และได้นำเสนอเผยแพร่องค์ความรู้สาระสำคัญการวิจัยครั้งนี้ไว้ที่เว็ปบลอกชื่อที่อยู่ http://thai-cultural-capital.blogspot.com

อภิปรายผลการวิจัย
ผลจากการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) ในครั้งนี้นั้น มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวนทั้งสิ้นรวม 8 ราย ดังนี้คือ จังหวัดชัยนาท 2 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชผักอาหารปลอดสารพิษวัดวิจิตรรังสรรค์ อำเภอหันคา และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเขาราวเทียนทอง ชัยนาท อำเภอเนินขาม จังหวัดลพบุรี 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนนิคมเกษตรอินทรีย์ (ไร่ทหารสานประชา) อำเภอเมืองลพบุรี และวิสาหกิจชุมชนไร่สานฝัน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม อำเภอเมืองสิงห์บุรี และวิสาหกิจแก่นตะวันวินวิว อำเภอพรหมบุรี และจังหวัดอ่างทอง 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทำของชำร่วย อำเภอเมืองอ่างทอง และวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยแท้ อำเภอป่าโมก

ผลจากการสำรวจเชิงลึกภาคสนามทำให้ทราบความต้องการด้านการออกแบบ โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้ประกอบการ เห็นด้วยกันและต้องการให้มีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมทางทัศนศิลป์ที่เป็นผลงานศิลปะใดๆที่ปรากฏมีอยู่มานาน เป็นสิ่งที่ควรค่า สามารถบ่งชี้ความเป็นมาชีวิตวิถีของชุมชนท้องถิ่น และมีคุณค่าทางจิตใจ ความเชื่อถือศรัทธา มาปรับใช้สื่อสารในตัวงานที่สร้างสรรค์อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวผู้วิจัยได้นำไปสรุปใช้เป็นแก่นแนวคิดหลักในการออกแบบ (Main Idea/Design Brief) ไว้คือ “ภาพรวมผลงานควรมีคุณลักษณะที่สื่อสาร สื่อแสดงถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาปรับประยุกต์ใช้เป็นองค์ประกอบร่วมในการออกแบบสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปผลิตและจัดจำหน่าย ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริง” จึงเป็นแนวคิดหลักของการออกแบบที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าวัฒนธรรมชุมชน ของกระทรวงวัฒนธรรม (2560) ที่กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเอาไว้ว่า วัฒนธรรม เปรียบเสมือนต้นน้ำ ในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือนำเนื้อหาทางวัฒนธรรมไปเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจ จึงได้ทำโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โดยนำวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบประยุกต์ พัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม และเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โดยการสนับสนุนให้มีการนำวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้างานกลุ่มงานยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง (สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน 2560) ว่าแนวคิดการวิจัยเป็นแนวทางเดียวกันในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง ต้องการให้มีการศึกษาวิจัย ให้ช่วยพัฒนาสินค้าชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรมรายล้อมอยู่มากมาย แต่ยังถูกนำมาปรับใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่กลุ่มผู้ประกอบการมีความต้องการให้ผลงานออกแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ ที่มีคุณภาพทางการออกแบบด้วยการใช้วัจนสัญลักษณ์และอวัจนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาสื่อแสดงใช้ในสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มนั้น ก็สอดคล้องกับผลการวิจัยของอนุรักษ์ อาทิตย์กวินและคณะ (2559) ที่ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างภาพลักษณ์สินค้าของผู้ประกอบการสินค้าชุมชน ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก : กรณีศึกษา โรงงานกิตติโรจน์เซรามิก ซึ่งพบว่าในการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าของชุมชนนั้นจะต้องประกอบไปด้วย การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย, การกำหนดชื่อตราสินค้า วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ รูปทรงบรรจุภัณฑ์, สีสันและกราฟิก รวมถึงข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สินค้าดูมีมูลค่า ดึงดูดสายตา มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องส่วนส่งเสริมการตลาดผลาดภัณฑ์ชุมชน (2559) ที่ได้สรุปในบทความเรื่องทุนวัฒนธรรมไทยสู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจเอาไว้ว่า ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) นับเป็นกระแสและความเคลื่อนไหวใหม่ในโลกยุคใหม่ เป็นเครื่องมือใหม่ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการธุรกิจมุ่งหมายให้ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการค้าเพื่อการแข่งขัน และภาครัฐก็ถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าปราศจากการพัฒนาทุนวัฒนธรรม ทุนวัฒนธรรมเป็นสินทรัพย์ที่มีการฝังตัวและให้คุณค่าทางวัฒนธรรม นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินทรัพย์ทุนวัฒนธรรมอาจเป็นวัฒนธรรมที่สัมผัสได้หรือวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ เมื่อสินค้าและบริการมีการฝังตัวของวัฒนธรรม จะเรียกสินค้านั้นว่าสินค้าวัฒนธรรม (Cultural Product) ดังนั้นในการใช้ทุนวัฒนธรรมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจการออกแบบในผลงานหมวดออกแบบตราสัญลักษณ์นั้น ผู้วิจัยจึงได้มีการออกแบบเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์สินค้าทางวัฒนธรรมประจำจังหวัด จัดสื่อแสดงให้นำเสนอไว้ในตัวบรรจุภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขายเอาไว้ให้ด้วย ซึ่งผลจากการที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นว่าภาพรวมคุณลักษณะของผลงาน ด้านการออกแบบตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ ด้านกราฟิกตราสัญลักษณ์ ด้านการรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าสมุนไพร โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่พึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุดนั้น มีความสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุชาดา คันธารส และคณะ (2557) ที่ได้ทำการศึกษาแนวทางการออกแบบเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ ที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำพริกของจังหวัดขอนแก่น ที่ได้ศึกษาแนวทางที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์น้ำพริกของจังหวัดขอนแก่น แล้วประเมินผลคุณลักษณะความคิดเห็นความเหมาะสมจากผู้บริโภค จากการลงพื้นที่ศึกษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น นำข้อมูลจากการศึกษามาวิเคราะห์เป็นองค์ประกอบเลขนศิลป์ด้าน โทนสี ภาพประกอบ ลวดลาย และตัวอักษร ได้แนวทางการออกแบบเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ มาเป็นรูปแบบที่ได้รับการพัฒนา โดยพิจารณาจากความโดดเด่นของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความสอดคล้องในบริบท และสัดส่วนตามหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ซึ่งผลการปฏิบัติการออกแบบได้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์แล้วเมื่อนำไปประเมินคุณลักษณะความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมาย พบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ สามารถสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น อยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด และสอดคล้องกับผลงานวิจัยของประชิด ทิณบุตรและคณะ (2557) ได้ทำการวิจัยเรื่องการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท ที่พบว่าผลงานการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ในภาพรวม ด้านมาตรฐานอัตลักษณ์ คุณภาพการออกแบบตราสัญลักษณ์ ด้านมาตรฐานและคุณภาพการออกแบบรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ และภาพรวมของการสื่อการรับรู้ที่เชื่อมโยงถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดชัยนาท โดยใช้อัตลักษณ์จังหวัดชัยนาทเป็นสื่อสร้างสรรค์คือ วัดนกเขื่อนมาเป็นส่วนประกอบร่วมนั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ที่มีค่าความคิดเห็นต่อภาพรวมผลงาน อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผลความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวนับเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาตัดสินใจในคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์สินค้าก่อนที่จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาดของ ฟิลลิป คอตเลอร์ และเกรอาร์มสตรอง (2014 : 299) ที่กล่าวไว้ว่า ในการที่จะพิจารณาตัดสินใจเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการใดๆนั้น ควรต้องมีประเด็นในการพิจารณาร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ (Product Attributes) การสร้างตราสัญลักษณ์สินค้า (Branding) การบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ฉลากที่ใช้กำกับสินค้า (Labeling) และการบริการที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ (Product Support Services) ที่ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน ดังที่เกรียงไกร กาญจนโภคิน (2551) ที่ได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์นี้เอาไว้ว่า คุณลักษณะต่างๆที่เป็นสมบัติองค์รวมของแบรนด์ (Brand Attribute) เป็นสิ่งที่ผู้คนมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน เป็นรูปร่างภายนอกและเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ เช่นตราสัญลักษณ์สินค้า (Symbol & Logo ) และกราฟิกร่วมสื่อสาร (Corporate Graphic Identity) ที่สามารถนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ และนำไปประเมินมูลค่าเป็นสินทรัพย์ของผู้ประกอบการได้ เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆอีกด้วย

ซึ่งในการออกแบบและพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ด้านสมุนไพร โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นกรอบแนวคิดแห่งการสร้างสรรค์ในครั้งนี้นั้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ทั้ง 8 ราย ได้รับชุดผลงานที่ผลิตขึ้นจริงและได้ไฟล์ผลงานต้นแบบ ที่มีความสมบูรณ์ทั้งส่วนประกอบของแบบโครงสร้างและรูปแบบกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมสร้างประชาสัมพันธ์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ให้แก่องค์กร (Corporate Identity Medias) เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า รายละ 250 ชิ้น ให้ได้ใช้เป็นสื่อทัศน์คุณลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นแต่ละจังหวัดตน ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ แปลงเป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่ประเมินมูลค่าในทางการค้าและองค์กรได้โดยตรง ใช้เป็นต้นแบบจริงในการวางแผน การทดสอบตลาด ทดลองการผลิตจริง การจัดจำหน่าย การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า และหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดสอบทางการตลาดต่อคู่ค้าและผู้บริโภคได้จริง อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถทางการค้า การผลิตและการลงทุนของแต่ละราย โดยผู้วิจัยได้แผยแพร่กิจกรรมและการดำเนินการวิจัยทั้งหมดให้ผู้สนใจได้ติดตามผล ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ได้ตลอดไปและตลอดเวลาได้ที่URL:http://thai-cultural- capital.blogspot.com

ข้อเสนอแนะการวิจัย

1. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ

1.1 หน่วยงานมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการอุปโภคและบริโภคผลิตภัณฑ์จากชุมชน ควรมีส่วนร่วมบูรณาการทรัพยากรและความร่วมมือตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ร่วมตั้งต้นกิจการ การพัฒนากิจการและการตรวจสอบและติดตามการดำเนินกิจการหลังการรับการพัฒนาแล้ว ทั้งนี้เพราะมีสถานประกอบการที่ล้มเลิกกิจการหรือชลอกิจกรรมการผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก จะได้ช่วยลดความเลื่อมล้ำ ความซ้ำซ้อนทั้งงบประมาณและภารกิจที่รับผิดชอบลงไปได้

1.2 หน่วยงานมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควรจัดสรรงบประมาณให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กิจกรรมชุมชนและร่วมปฏิบัติการด้านการผลิต การวิจัย การรับรอง การทดสอบ ทดลองเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชน (Community Lab) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

1.3 ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความร่วมมือกับโครงการศึกษาวิจัย ได้รับการสนับสนุนการผลิต การถ่ายทอดภาคความรู้และภาคปฏิบัติการ จนประสบผลสำเร็จจนมีทักษะความชำนาญแล้ว ควรมีการถ่ายทอดสู่เกื้อกูลแก่ชุมชนและสังคม ร่วมปฎิบัติการเป็นวิทยากรในระดับชุมชน

2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการศึกษาวิจัยด้านการใช้ทุนทางวัฒนธรรมด้านอื่นๆทั้งที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อผลิตภัณฑ์และการบริการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการโอทอปและหรือผู้ประกอบการระดับ SME ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนและความพร้อมในการผลิต การตลาด ในภูมิภาคต่างๆให้มากขึ้นและให้ครอบคลุมสาระเนื้อหาทางวัฒนธรรมทั้งในแนวกว้างและลึก

2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพและงานสร้างสรรค์ ด้วยการปฏิบัติการตามกลวิธีศิลปะทางด้านวิจิตรศิลป์และทัศนศิลป์ ในขอบเขตเนื้อหาด้านการอนุรักษ์ รักษา การสืบทอด และการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่กลุ่มภาคกลางตอนบน 1 และ 2 ยังเป็นความต้องการของชุมชน เอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังรอคอยความร่วมมือและบูรณาการความรู้และการบริการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยของภาครัฐและเอกชนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

2.3 ควรมีการวิจัยเชิงพัฒนาทดลองตามกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชน โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นแหล่งเพาะปลูกหรืออัตลักษณ์เฉพาะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นบริบทและกรอบดำเนินการวิจัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือวิจัย มีมูลค่าเพิ่ม สามารถเป็นแนวทางสู่การจดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าเฉพาะทางภูมิศาสตร์ Geographical Indications : GI ของแต่ละจังหวัด หรือท้องถิ่นได้


Wednesday, June 20, 2018

ผศ.ประชิด ทิณบุตร นำเสนอ เผยแพร่ผลงาน และถ่ายทอดความรู้งานวิจัยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ แก่กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF)

ผศ.ประชิด ทิณบุตร นำเสนอ เผยแพร่ผลงาน และถ่ายทอดความรู้งานวิจัยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ยุคไทยแลนด์ 4.0 แก่กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่  Young Smart Farmer (YSF) โครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ กิจกรรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมเกษตรกรรุ่นใหม่ ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดชัยนาท ณ ห้องประชุมศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร ที่ 1 จังหวัดชัยนาท ร่วมกับวิทยากรระดับชุมชน อาจารย์รัตนา และคุณปวันรัตน์ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและเคยร่วมมือในการวิจัย มาแล้ว จากวิสาหกิจชุมชนสวนสารพัดดี อำเภอหันคา เมื่อวันที่ 20/6/2561

ผศ.ประชิด ทิณบุตรนำเสนอผลงานและเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร

ผศ.ประชิด ทิณบุตรนำเสนอผลงานและเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตอาหารปลอดสารพิษวัดวิจิตรรังสรรค์ อ.หันคา จ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561

Thursday, June 14, 2018

แจกฟ้อนต์ ฟรี มีเงื่อนไข

แบบสอบถามวิจัยออนไลน์
ขอขอบคุณทุกท่านนะครับ ที่ได้ร่วมชมผลงาน และร่วมพิจารณากันครับ) ฟ้อนต์จะส่งตามหลังนับจากนี้ 3 สัปดาห์ ครับ ขอตรวจสอบไฟล์ก่อน




      เรียนเชิญทุกท่านเยี่ยมชมผลงานวิจัย-สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) โดยช่วยทำแบบสอบถามและเสนอแนะความคิดเห็นครับ ผมมีฟ้อนต์ที่ออกแบบให้แต่ละจังหวัดคือ AAA Angthong, AAAChainat, AAA Lawoe, AAA Singburi ที่ใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์ในตราสัญลักษณ์และกราฟิกสาหรับบรรจุภัณฑ์ในงานวิจัยครั้งนี้ แจกในแต่ละแบบสอบถามของแต่ละจังหวัดและจะจัดส่งให้ภายใน 3 สัปดาห์ กรุณาตอบ ภายในวันที่ 20 มิ.ย.2561 นี้นะครับ 

แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง)(Application of the cultural capital context to design and develop branding and packaging appeal to herbal products of the community enterprise in the area of north central provinces group 2 (Chai Nat ,
Lopburi , Sing Buri and Angthong).
คณะผู้วิจัยขอความร่วมมือ โปรดกรุณาตอบแบบสอบถามตามความคิดเห็น ทัศนคติ ความรู้สึกความเป็นจริงและประสบการณ์ร่วมพิจารณาของท่าน ที่มีต่อต้นแบบที่ได้นำเสนอ (Presentation &  Exhibition)ไว้ในแต่ละรายการ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการสรุปผลการออกแบบพัฒนาเป็นการร่วมให้ข้อปรึกษาแก่ผู้ประกอบการและผู้ร่วมงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตจังหวัดชัยนาทและเป็นข้อมูลแนวทางต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆอีกต่อไป

ขอขอบพระคุณ ในความร่วมมือของท่านไว้ ณ ที่นี้ เป็นอย่างสูง

ผศ.ประชิด ทิณบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย
นางสาวนรรชณพ ทาสุวรรณ ผู้ร่วมวิจัย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แบบสอบถามวิจัย มีจำนวน 8 ฉบับ รายการประเมินมีฉบับละ 16 ข้อ ของผู้ประกอบการ  4 จังหวัด ภาคกลางตอนบน 2 ดังนี้คือ

แบบสอบถามของจังหวัดอ่างทอง
ฉบับที่ 1. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชน สมุนไพรไทยแท้
ฉบับที่ 2. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรีกลุ่มสตรีทำของชำร่วย

แบบสอบถามของจังหวัดสิงห์บุรี
ฉบับที่ 3. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม(สมุนไพรโพธิ์แก้ว)
ฉบับที่ 4.คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนแก่นตะวันวินวิว

แบบสอบถามของจังหวัด ลพบุรี
ฉบับที่ 5. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนนิคมเกษตรอินทรีย์ (ไร่ทหารสานประชา)
ฉบับที่ 6. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนไร่สานฝัน ธารน้ำใส

แบบสอบถามของจังหวัดชัยนาท

ฉบับที่ 7. คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเขาราวเทียนทอง ชัยนาท
ฉบับที่ 8.คลิกเข้าตอบแบบสอบถาม สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชผักอาหารปลอดสารพิษวัดวิจิตรรังสรรค์

Singburi Onsite Presentation : Winview farm & Phokaeo herb ,Singburi product design onsite focus group

Research Onsite Presentation : @ Winview farm product design focus group 8/7/2018

Prachid : Phokaeo Herb : Cultural Products Design Focus Group & Presentation 7/6/2018