สรุปผลการวิจัย : บทคัดย่อ Abstract : บทความวิจัย Research Article
การวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความต้องการด้านการออกแบบพัฒนาคุณภาพของตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนด้านสมุนไพร ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง ) 2) เพื่อศึกษาทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์พัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน 3) เพื่อออกแบบพัฒนา ปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพด้านตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสมุนไพร มีคุณลักษณะที่สื่อสาร สื่อแสดงถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรม มาใช้เป็นส่วนประกอบในการออกแบบสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าและใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ และ 4) เพื่อประเมินความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีต่อภาพรวมผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้าน ที่ได้พัฒนา และผลิตขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม
ในส่วนของกระบวนการดำเนินงานศึกษาวิจัย เป็นการศึกษาวิจัยแบบพัฒนาทดลองตามกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ข้อมูลป้อนสู่กระบวนการออกแบบสร้างสรรค์และพัฒนา ผู้วิจัยใช้วิธีการเข้าศึกษาสำรวจข้อมูลภาคสนาม (Field Survey) เพื่อให้ได้ข้อมูล ปัญหา ความต้องการงานออกแบบแท้จริงด้านผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และการศึกษาทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) แล้วสังเคราะห์ในขอบเขตเนื้อหาของทุนทางวัฒนธรรมเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการออกแบบส่วนประกอบของการออกแบบตราบรรจุภัณฑ์ (Branding and Packaging Element Design Inspiration) ที่เป็นวัจนสัญลักษณ์และอวจนสัญลักษณ์ (Verbal & Non Verbal Symbolic) โดยสรุปผลจากคำแนะนำ ความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และผลการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง (Swot Analysis) ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัย 2 รอบ จังหวัดละ 2 กลุ่ม รวมจำนวนทั้งสิ้น 8 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของการออกแบบพัฒนา (Design and Development Work Flow) ที่ใช้วิธีดำเนินการและผลงานสรุปตามกระบวนการออกแบบตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ มีขั้นตอนคือ 1) ขั้นตอนการกำหนดคุณลักษณะตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้า (Product’s Brand and Packaging Design Specification) โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆเช่น 2) ขั้นตอนการกำหนดมโนทัศน์ตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ (Product’s Brand and Packaging Design Concept Generation Stage) 3) ขั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (Product and Packaging Design Stage) 4) ขั้นการผลิต (Production Stage) และ 5) ขั้นการสรุปและประเมินผล (Conclusion and Evaluation) ซึ่งผลการดำเนินการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ตามกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวนั้น ทำให้ได้ผลงานออกมาเป็นผลงานด้านการออกแบบกราฟิกรูปแบบต่างๆ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบของอัตลักษณ์ (Corporate Graphic Identity Elements) เป็นคุณลักษณะของตราสัญลักษณ์สินค้า (Brand Attributes) อันได้แก่แบบตัวอักษรตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ฟ้อนต์ (Font) ที่แสดงอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อใช้สื่อแทนขององค์กร บนสินค้าและการบริการ ใช้เป็นเครื่องมือและองค์ประกอบในการสื่อสาร สื่อความหมาย (Communicate & Translate Elements) แสดงแทนเป็นวัจนะสัญลักษณ์เพื่อการอ่าน การตีความเข้าใจ (Verbal elements) รวมทั้งสิ้น 4 ตระกูลแบบตัวอักษร(Typeface Family) แสดงอัตลักษณ์ด้วยการใช้ชื่อแบบตัวพิมพ์ตามชื่อจังหวัด ได้แก่ AAA ChaiNat, AAA Lawoe, AAA SingBuri, AAA Angthong เพื่อเป็นฟ้อนต์ที่ใช้ติดตั้งในระบบคอมพิวเตอร์ และใช้ในเป็นส่วนประกอบหลักในการพิมพ์รูปอักขระ ข้อความ สาระเนื้อหาด้วยโปรแกรมประยุกต์ใดๆ เป็นส่วนประกอบร่วมในการการออกแบบสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์และการออกแบบกราฟิกสื่อสาร การอ่านสำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่วนการใช้อวัจนะสัญลักษณ์ (Non Verbal Elements) นั้น เป็นการที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาร่วมใช้สื่อแสดงแทนอัตลักษณ์ แสดงอารมณ์และความรู้สึกร่วม เช่นอาศัยรูปแบบทางศิลปะ (Art Style) ส่วนประกอบของรูปร่าง รูปทรง สีสัน ลวดลาย ที่เป็นส่วนประกอบและปรากฏอยู่ในงาน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ตามแหล่งโบราณสถานวัดวาอารามและที่จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ในท้องที่แต่ละจังหวัดเป้าหมาย มาใช้โดยตรงและโดยอ้อมตามกลวิธีทางศิลปะ(Art and Design Technique) และเทคโนโลยีการออกแบบ (Design Technology) เป็นผลงานรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนเป็นสื่อส่งเสริมการขายต่างๆ (Promotion Medias) อาทิเช่นสื่อทัศน์ (Visual Elements) ที่ปรากฏเป็น รูปลักษณ์ รูปทรงภายนอก ภาพประกอบ พื้นสีสัน ลวดลายทางกราฟิกที่ตัวงานโครงสร้างตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และกราฟิกสำหรับบรรจุภัณฑ์ (Packaging Structural & Graphical Design Appearance/Features) ไปพร้อมกันทั้งองค์ อาทิเช่น ผลงานเขียนแบบโครงสร้าง (Product & Package Structure) งานเขียนแผ่นคลี่ (Package Dieline Pattern) และงานออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับผู้ผลิตและตัวบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ได้ออกแบบพัฒนาขึ้นจากภาพรวมปัญหาที่พบจากการวิเคราะห์ และสังเคราห์ด้วยวิธี Visual Appeal Analysis ของแต่ตัวสินค้า ปัญหาด้านศักยภาพด้านการผลิต เทคนิควิธีการบรรจุ การขนส่ง ข้อมูลการลงทุน ทางการตลาดและแนวโน้มใหม่ของการใช้งานวัสดุบรรจุภัณฑ์ใหม่ การพัฒนารูปลักษณ์ การนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างพอเพียงแก่การลงทุน ตามศักยภาพและการตลาดในยุคเศรษฐกิจดิจิตัล และการสร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวบรรจุภัณฑ์ โดยที่ผู้วิจัยได้นำแนวความคิดหลักเพื่อการดำเนินงานออกแบบพัฒนา โดยมุ่งหวังว่า “ภายใต้แนวคิดของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ ให้มีคุณลักษณะ องค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่การใช้งาน ตามโครงสร้างและตามคุณลักษณะทางกราฟิกสื่อสาร อันเป็นข้อสรุปสู่การผลิตจริง สามารถนำไปใช้ในระบบการผลิต การบรรจุและการจัดจำหน่ายจริงในท้องตลาดได้ สามารถสื่อแสดงคุณค่าและเชื่อมโยงกับทุนวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ได้อย่างเหมาะสม” กระทั่งได้ผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ เป็นผลงานต้นแบบและผลิตจริงให้แก่ผู้ประกอบการจังหวัดละ 2 ราย ทั้ง 8 กลุ่ม อย่างน้อยรายละ 2 ชิ้นงาน เพื่อให้มีการประเมินความพึงพอใจจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยวิธีการแสดงนิทรรศการ การจัดสนทนากลุ่มย่อย และตอบแบบสอบถามโดยตรงและทางออนไลน์
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาพัฒนาครั้งนี้คือ ผลงานรูปแบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ รูปแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์ รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 8 ราย ในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 ที่ออกแบบพัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดของการวิจัย โดยมีการประเมินคุณภาพและความพึงพอใจ จากตัวแทนของกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสียจาก 5 กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มตัวอย่างในฐานะของกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา/นักวิจัย นักวิชาการพัฒนาชุมชน/เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นักออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์/นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ และตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงเลือกและการเลือกแบบบังเอิญ รวมจำนวนทั้งสิ้น 142 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการนำเสนอผลงานแบบกลุ่มย่อย (Design Focus Group) จัดแสดงผลงานนิทรรศการ การสอบถามความคิดเห็นทั้งโดยตรงและแบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งมีผลการวิจัยดังต่อไปนี้คือ
ผลจากการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการผลงานออกแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าด้านสมุนไพร ที่มีคุณลักษณะเป็นองค์รวมของการสื่อสารและหน้าที่ใช้สอยร่วมกัน ให้ผู้บริโภครับรู้และจดจำง่าย มีอัตลักษณ์เฉพาะ มีคุณภาพทางการออกแบบด้วยการใช้วัจนสัญลักษณ์และอวัจน์สัญลักษณ์ ที่เหมาะสมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยต้องการให้มีการศึกษาและใช้ข้อค้นพบทุนทางวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ ที่ปรากฏมีอยู่ในงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด มาปรับใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์ ขึ้นเป็นส่วนประกอบต่างๆ ร่วมเป็นสื่อการรับรู้ในตัวผลงานตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมกลมกลืนกัน โดยที่ผลงานที่ได้ออกแบบสร้างสรรค์ตามกรอบแนวคิดและข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยทั้งหมดนั้น กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นว่าภาพรวมคุณลักษณะของผลงาน ด้านการออกแบบตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ ด้านกราฟิกตราสัญลักษณ์ ด้านการรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าสมุนไพร โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่พึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.66 โดยที่ผู้วิจัยได้มอบวัสดุการผลิต บรรจุภัณฑ์จริง งานสื่อสิ่งพิมพ์และสรุปรวบรวมไฟล์ต้นแบบดิจิตัลที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ของทั้งองค์ประกอบทางกราฟิกอัตลักษณ์ อาทิ แบบตัวอักษรและตัวพิมพ์ ตราสัญลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพประกอบ ข้อมูลสารสนเทศของสินค้าและผู้ผลิต บันทึกลงแผ่นดีวีดีมอบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย และได้นำเสนอเผยแพร่องค์ความรู้สาระสำคัญการวิจัยครั้งนี้ไว้ที่เว็ปบลอกชื่อที่อยู่ http://thai-cultural-capital.blogspot.com
อภิปรายผลการวิจัย
ผลจากการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) ในครั้งนี้นั้น มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวนทั้งสิ้นรวม 8 ราย ดังนี้คือ จังหวัดชัยนาท 2 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชผักอาหารปลอดสารพิษวัดวิจิตรรังสรรค์ อำเภอหันคา และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเขาราวเทียนทอง ชัยนาท อำเภอเนินขาม จังหวัดลพบุรี 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนนิคมเกษตรอินทรีย์ (ไร่ทหารสานประชา) อำเภอเมืองลพบุรี และวิสาหกิจชุมชนไร่สานฝัน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม อำเภอเมืองสิงห์บุรี และวิสาหกิจแก่นตะวันวินวิว อำเภอพรหมบุรี และจังหวัดอ่างทอง 2 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทำของชำร่วย อำเภอเมืองอ่างทอง และวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยแท้ อำเภอป่าโมก
ผลจากการสำรวจเชิงลึกภาคสนามทำให้ทราบความต้องการด้านการออกแบบ โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้ประกอบการ เห็นด้วยกันและต้องการให้มีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมทางทัศนศิลป์ที่เป็นผลงานศิลปะใดๆที่ปรากฏมีอยู่มานาน เป็นสิ่งที่ควรค่า สามารถบ่งชี้ความเป็นมาชีวิตวิถีของชุมชนท้องถิ่น และมีคุณค่าทางจิตใจ ความเชื่อถือศรัทธา มาปรับใช้สื่อสารในตัวงานที่สร้างสรรค์อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวผู้วิจัยได้นำไปสรุปใช้เป็นแก่นแนวคิดหลักในการออกแบบ (Main Idea/Design Brief) ไว้คือ “ภาพรวมผลงานควรมีคุณลักษณะที่สื่อสาร สื่อแสดงถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มาปรับประยุกต์ใช้เป็นองค์ประกอบร่วมในการออกแบบสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปผลิตและจัดจำหน่าย ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริง” จึงเป็นแนวคิดหลักของการออกแบบที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าวัฒนธรรมชุมชน ของกระทรวงวัฒนธรรม (2560) ที่กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเอาไว้ว่า วัฒนธรรม เปรียบเสมือนต้นน้ำ ในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือนำเนื้อหาทางวัฒนธรรมไปเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจ จึงได้ทำโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โดยนำวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบประยุกต์ พัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม และเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โดยการสนับสนุนให้มีการนำวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้างานกลุ่มงานยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง (สัมภาษณ์ 8 มิถุนายน 2560) ว่าแนวคิดการวิจัยเป็นแนวทางเดียวกันในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง ต้องการให้มีการศึกษาวิจัย ให้ช่วยพัฒนาสินค้าชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรมรายล้อมอยู่มากมาย แต่ยังถูกนำมาปรับใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่กลุ่มผู้ประกอบการมีความต้องการให้ผลงานออกแบบกราฟิกตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ ที่มีคุณภาพทางการออกแบบด้วยการใช้วัจนสัญลักษณ์และอวัจนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม มาสื่อแสดงใช้ในสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มนั้น ก็สอดคล้องกับผลการวิจัยของอนุรักษ์ อาทิตย์กวินและคณะ (2559) ที่ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างภาพลักษณ์สินค้าของผู้ประกอบการสินค้าชุมชน ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก : กรณีศึกษา โรงงานกิตติโรจน์เซรามิก ซึ่งพบว่าในการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าของชุมชนนั้นจะต้องประกอบไปด้วย การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย, การกำหนดชื่อตราสินค้า วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ รูปทรงบรรจุภัณฑ์, สีสันและกราฟิก รวมถึงข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สินค้าดูมีมูลค่า ดึงดูดสายตา มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องส่วนส่งเสริมการตลาดผลาดภัณฑ์ชุมชน (2559) ที่ได้สรุปในบทความเรื่องทุนวัฒนธรรมไทยสู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจเอาไว้ว่า ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) นับเป็นกระแสและความเคลื่อนไหวใหม่ในโลกยุคใหม่ เป็นเครื่องมือใหม่ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการธุรกิจมุ่งหมายให้ใช้เป็นกลยุทธ์ทางการค้าเพื่อการแข่งขัน และภาครัฐก็ถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าปราศจากการพัฒนาทุนวัฒนธรรม ทุนวัฒนธรรมเป็นสินทรัพย์ที่มีการฝังตัวและให้คุณค่าทางวัฒนธรรม นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินทรัพย์ทุนวัฒนธรรมอาจเป็นวัฒนธรรมที่สัมผัสได้หรือวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ เมื่อสินค้าและบริการมีการฝังตัวของวัฒนธรรม จะเรียกสินค้านั้นว่าสินค้าวัฒนธรรม (Cultural Product) ดังนั้นในการใช้ทุนวัฒนธรรมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจการออกแบบในผลงานหมวดออกแบบตราสัญลักษณ์นั้น ผู้วิจัยจึงได้มีการออกแบบเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์สินค้าทางวัฒนธรรมประจำจังหวัด จัดสื่อแสดงให้นำเสนอไว้ในตัวบรรจุภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขายเอาไว้ให้ด้วย ซึ่งผลจากการที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความเห็นว่าภาพรวมคุณลักษณะของผลงาน ด้านการออกแบบตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ ด้านกราฟิกตราสัญลักษณ์ ด้านการรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าสมุนไพร โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่พึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุดนั้น มีความสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สุชาดา คันธารส และคณะ (2557) ที่ได้ทำการศึกษาแนวทางการออกแบบเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ ที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำพริกของจังหวัดขอนแก่น ที่ได้ศึกษาแนวทางที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์น้ำพริกของจังหวัดขอนแก่น แล้วประเมินผลคุณลักษณะความคิดเห็นความเหมาะสมจากผู้บริโภค จากการลงพื้นที่ศึกษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น นำข้อมูลจากการศึกษามาวิเคราะห์เป็นองค์ประกอบเลขนศิลป์ด้าน โทนสี ภาพประกอบ ลวดลาย และตัวอักษร ได้แนวทางการออกแบบเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ มาเป็นรูปแบบที่ได้รับการพัฒนา โดยพิจารณาจากความโดดเด่นของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความสอดคล้องในบริบท และสัดส่วนตามหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ซึ่งผลการปฏิบัติการออกแบบได้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์แล้วเมื่อนำไปประเมินคุณลักษณะความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมาย พบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเลขนศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ สามารถสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น อยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด และสอดคล้องกับผลงานวิจัยของประชิด ทิณบุตรและคณะ (2557) ได้ทำการวิจัยเรื่องการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท ที่พบว่าผลงานการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ในภาพรวม ด้านมาตรฐานอัตลักษณ์ คุณภาพการออกแบบตราสัญลักษณ์ ด้านมาตรฐานและคุณภาพการออกแบบรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ และภาพรวมของการสื่อการรับรู้ที่เชื่อมโยงถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดชัยนาท โดยใช้อัตลักษณ์จังหวัดชัยนาทเป็นสื่อสร้างสรรค์คือ วัดนกเขื่อนมาเป็นส่วนประกอบร่วมนั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ที่มีค่าความคิดเห็นต่อภาพรวมผลงาน อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผลความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวนับเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาตัดสินใจในคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์สินค้าก่อนที่จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาดของ ฟิลลิป คอตเลอร์ และเกรอาร์มสตรอง (2014 : 299) ที่กล่าวไว้ว่า ในการที่จะพิจารณาตัดสินใจเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการใดๆนั้น ควรต้องมีประเด็นในการพิจารณาร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ (Product Attributes) การสร้างตราสัญลักษณ์สินค้า (Branding) การบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ฉลากที่ใช้กำกับสินค้า (Labeling) และการบริการที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ (Product Support Services) ที่ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน ดังที่เกรียงไกร กาญจนโภคิน (2551) ที่ได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์นี้เอาไว้ว่า คุณลักษณะต่างๆที่เป็นสมบัติองค์รวมของแบรนด์ (Brand Attribute) เป็นสิ่งที่ผู้คนมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน เป็นรูปร่างภายนอกและเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ เช่นตราสัญลักษณ์สินค้า (Symbol & Logo ) และกราฟิกร่วมสื่อสาร (Corporate Graphic Identity) ที่สามารถนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ และนำไปประเมินมูลค่าเป็นสินทรัพย์ของผู้ประกอบการได้ เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆอีกด้วย
ซึ่งในการออกแบบและพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ด้านสมุนไพร โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นกรอบแนวคิดแห่งการสร้างสรรค์ในครั้งนี้นั้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ทั้ง 8 ราย ได้รับชุดผลงานที่ผลิตขึ้นจริงและได้ไฟล์ผลงานต้นแบบ ที่มีความสมบูรณ์ทั้งส่วนประกอบของแบบโครงสร้างและรูปแบบกราฟิกอัตลักษณ์สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมสร้างประชาสัมพันธ์ เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ให้แก่องค์กร (Corporate Identity Medias) เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า รายละ 250 ชิ้น ให้ได้ใช้เป็นสื่อทัศน์คุณลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นแต่ละจังหวัดตน ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ แปลงเป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่ประเมินมูลค่าในทางการค้าและองค์กรได้โดยตรง ใช้เป็นต้นแบบจริงในการวางแผน การทดสอบตลาด ทดลองการผลิตจริง การจัดจำหน่าย การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า และหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดสอบทางการตลาดต่อคู่ค้าและผู้บริโภคได้จริง อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถทางการค้า การผลิตและการลงทุนของแต่ละราย โดยผู้วิจัยได้แผยแพร่กิจกรรมและการดำเนินการวิจัยทั้งหมดให้ผู้สนใจได้ติดตามผล ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ได้ตลอดไปและตลอดเวลาได้ที่URL:http://thai-cultural- capital.blogspot.com
ข้อเสนอแนะการวิจัย
1. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
1.1 หน่วยงานมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการอุปโภคและบริโภคผลิตภัณฑ์จากชุมชน ควรมีส่วนร่วมบูรณาการทรัพยากรและความร่วมมือตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ร่วมตั้งต้นกิจการ การพัฒนากิจการและการตรวจสอบและติดตามการดำเนินกิจการหลังการรับการพัฒนาแล้ว ทั้งนี้เพราะมีสถานประกอบการที่ล้มเลิกกิจการหรือชลอกิจกรรมการผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก จะได้ช่วยลดความเลื่อมล้ำ ความซ้ำซ้อนทั้งงบประมาณและภารกิจที่รับผิดชอบลงไปได้
1.2 หน่วยงานมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควรจัดสรรงบประมาณให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กิจกรรมชุมชนและร่วมปฏิบัติการด้านการผลิต การวิจัย การรับรอง การทดสอบ ทดลองเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชน (Community Lab) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
1.3 ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความร่วมมือกับโครงการศึกษาวิจัย ได้รับการสนับสนุนการผลิต การถ่ายทอดภาคความรู้และภาคปฏิบัติการ จนประสบผลสำเร็จจนมีทักษะความชำนาญแล้ว ควรมีการถ่ายทอดสู่เกื้อกูลแก่ชุมชนและสังคม ร่วมปฎิบัติการเป็นวิทยากรในระดับชุมชน
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาวิจัยด้านการใช้ทุนทางวัฒนธรรมด้านอื่นๆทั้งที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อผลิตภัณฑ์และการบริการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการโอทอปและหรือผู้ประกอบการระดับ SME ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนและความพร้อมในการผลิต การตลาด ในภูมิภาคต่างๆให้มากขึ้นและให้ครอบคลุมสาระเนื้อหาทางวัฒนธรรมทั้งในแนวกว้างและลึก
2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพและงานสร้างสรรค์ ด้วยการปฏิบัติการตามกลวิธีศิลปะทางด้านวิจิตรศิลป์และทัศนศิลป์ ในขอบเขตเนื้อหาด้านการอนุรักษ์ รักษา การสืบทอด และการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่กลุ่มภาคกลางตอนบน 1 และ 2 ยังเป็นความต้องการของชุมชน เอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังรอคอยความร่วมมือและบูรณาการความรู้และการบริการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยของภาครัฐและเอกชนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
2.3 ควรมีการวิจัยเชิงพัฒนาทดลองตามกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของชุมชน โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นแหล่งเพาะปลูกหรืออัตลักษณ์เฉพาะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 มาเป็นบริบทและกรอบดำเนินการวิจัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือวิจัย มีมูลค่าเพิ่ม สามารถเป็นแนวทางสู่การจดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าเฉพาะทางภูมิศาสตร์ Geographical Indications : GI ของแต่ละจังหวัด หรือท้องถิ่นได้
การจัดการความรู้วิจัยเรื่องการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทสมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดอ่างทอง) โดย ผศ.ประชิด ทิณบุตร และคณะ สาขาวิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม : 2560 by Assistant Professor Prachid Tinnabutr : 2017
No comments:
Post a Comment